วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พัฒนาลูกน้อยด้วยไท้เก็ก (ด้านร่างกาย) ตอนที่1

พัฒนาลูกน้อยด้วยไท้เก็กเป็นอย่างไร  หลายคนอาจสงสัย  แต่หลายคนที่เคยเรียน หรือพอจะรู้จักจากสื่อต่างๆ  คงจะพอนึกภาพออกว่าไท้เก็กนั้นนำมาพัฒนาลูกน้อยได้อย่างไร
            ก่อนอื่นคงต้องพูดถึงที่มาที่ไปของไท้เก็กให้ฟังกันคร่าวๆ ว่ามีหน้าตาอย่างไร  เกิดขึ้นจากอะไร (ตามความเข้าใจของผู้เขียน  และขออภัยท่านผู้รู้ไว้ที่นี้ด้วยจ้า)  ไท้เก็กนั้นเกิดขึ้นจากความว่างเปล่า  เป็นการผสมผสานระหว่างด้านที่ต่างกันทั้งสอง  เช่น มืดกับสว่าง  ขาวกับดำ  อ้วนกับผอม  หนักกับเบา  ความต้องการกับความไม่ต้องการ  เมื่อไท้เก็กเกิดการผสมผสานกันความว่างเปล่าจึงเกิดเป็นความมี  ความมีไปสู่ความว่างเปล่ากลับไปกลับมา  เขียนไปเขียนมาก็เริ่มงง เอาเป็นว่าเราจบในส่วนที่ลึกซึ้งไว้เพียงเท่านี้ดีกว่า  ส่วนใครที่อยากศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับจุดกำเนิดของไท้เก็กอาจตามไปศึกษาได้จากแนวคิดของลัทธิเต๋า  ถ้าเป็นหนังสือก็ชื่อ เต๋า เต็ก เก็ง
            ทีนี้เรามาพูดกันในส่วนของการนำไปใช้น่าจะใกล้เคียงกับหัวข้อของเรามากกว่า  การรำมวยไท้เก็กนั้นเชื่อกันว่าผู้ที่คิดค้นวิชานี้ขึ้นมาคือนักพรตในลัทธิเต๋าชื่อว่า จาง ซาน ฟง  หลายคนคงรู้สึกคุ้นๆ กับชื่อนี้  ท่านเป็นผู้ที่มีอายุยืนยาวมาก  ตามที่ได้ยินมาก็มากกว่า 200 ปี  จึงเป็นเหตุให้ผู้เฒ่าทั้งหลายที่อายุมากๆ  หันมาเรียนรำมวยไท้เก็กกันมากเพราะเชื่อว่า  ทำให้สุขภาพแข็งแรง  สมบูรณ์  และมีอายุยืนยาวเหมือนท่าน จาง ซาน ฟง  ส่วนคนอายุน้อยๆ  ที่เรียนรำมายไท้เก็กก็มีความเชื่อเช่นนี้เหมือนกัน  ว่าทำให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์  และมีอายุยืนยาว  เพราะส่วนมากแล้ววัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่ยังอายุไม่มากนั้นจะรำมวยเพื่อรักษาโรคทางกายของตนเอง  หลายคนรักษาโรคที่เจ็บป่วยได้ หลายคนก็ไม่  แต่หลายคนรักษาโรคของตนเองหายแล้วยังรำไท้เก็กต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอจนมีฝีมือที่ก้าวหน้าอยู่ในระดับอาจารย์ก็มาก  ส่วนในเด็กเล็กๆ นั้นไม่ค่อยมีใครฝึกกันเนื่องจากยังไม่เห็นความสำคัญ  แถมท่ารำยังเชื่องช้าน่าเบื่ออีกด้วย  จึงมีน้อยคนนักที่จะเรียนด้วยความสนใจของตนเอง
            มีแนวคิดหนึ่งในการฝึกของไท้เก็กที่กล่าวว่า  “จงเลียนแบบการเคลื่อนไหวของเด็ก”  เพราะเด็กเคลื่อนไหวโดยใช้กำลังจากท้องน้อย  การส่งพลังจากท้องน้อยขึ้นมาตามหลัง  ผ่านสู่ลำแขนและปล่อยออกทางฝ่ามือ  คงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่เนื่องจากหลังยาว  แขนก็ยาว  เวลาหายใจก็หายใจแค่ปอดไม่ได้หายใจลงไปถึงท้องน้อย  พลังจึงน้อย  เวลาปล่อยพลังออกจากท้องจึงหมดแรงเสียก่อนที่พลังจะเดินทางไปถึงฝ่ามือ  แต่ถ้าเป็นเด็ก  ตัวก็สั้น  แขนก็สั้น  มือก็กลม  หายใจเข้าทีลงไปถึงท้องน้อย  หายใจออกทีเลือดลมแล่นไปทั่วร่างกาย  จึงแทบไม่ต้องบังคับพลังจากลมปราณให้ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย  เพราะว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว
           การพัฒนาลูกน้อยด้วยไท้เก็กจึงหมายถึง  การที่เราพยายามรักษาส่วนดีที่ติดตัวเขามาตามธรรมชาติให้อยู่กับเขาไปนานๆ  และนำส่วนดีนั้นๆ  มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ  ซึ่งเราจะพูดถึงในตอนต่อๆ  ไป 


            ครูฤทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น