วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พัฒนาลูกน้อยด้วยไท้เก็ก (ด้านร่างกาย) ตอนที่ 3

            คราวที่แล้วพูดถึงข้อดีของการเป็นเด็กในการรำไท้เก็กว่าเด็กนั้น  อ้วนกลม  แขนขายังไม่ค่อยมีแรง  และการตอบสนองต่อวัตถุต่างๆเป็นแบบยอมรับ และอ่อนตามกำลังของวัตถุนั้นๆ  ทำให้การฝึกไท้เก็กในเด็กมีข้อได้เปรียบกว่าการฝึกในผู้ใหญ่  มาในตอนนี้เราจะไปดูกันว่าเมื่อลูกน้อยฝึกไท้เก็กแล้วจะได้รับการพัฒนาอย่างไรบ้าง  ซึ่งในที่นี้จะพูดเน้นไปที่ทักษะทางด้านร่างกายเป็นหลัก
            ในเด็กตั้งแต่แรกคลอด  พัฒนาการทางร่างกายอาจหมายถึงการที่เด็กชันคอ พลิกตัว  นอนคว่ำ  ยกอกกระดกก้น  นั่ง ลุก เกาะ คลาน คุกเข่า ยืดตัวยืนตรงไปจนถึงเดินได้เอง  พอถัดมา ยืนได้เดินได้อยากไปเร็วขึ้นก็เริ่มออกวิ่ง  เล่นสนุกด้วยการกระโดด  กระโดดสูงๆ  กระโดดกระต่ายขาเดียว  กระโดดสองขา  เดินหน้าถอยหลัง  กระโดดยาง  ด้านลำตัวช่วงบนก็เช่น  ปาเป้า  โยนบอลรับบอล  ตีเกราะเคาะไม้ เป็นต้น
            เมื่อเราย้อนไปดูเส้นทางพลังของเด็กที่ใช้ไปกับกิจกรรมต่างๆ  จะเห็นว่าจุดเริ่มต้นอยู่ตรงสะดือ (ย้อนไปตอนอยู่ในครรภ์) เขาได้รับพลังงานมาจากสายสะดือจนเติบโตตัวใหญ่ขึ้นมา  พอออกมาจากท้องแม่แล้ว  ก็พยายามชันคอขึ้นด้วยความอยากรู้อยากเห็น  พลังถูกส่งขึ้นไปเป็นเส้นตรง  เมื่ออยากรู้มากเข้าก็ส่งแรงไปขยับคอบ่อยๆ  ทำให้เส้นทางของพลังแข็งแรงขึ้นจนพลิกตัวได้  นี่คือพลังสายแรกที่เด็กได้พัฒนาขึ้น  เส้นทางพลังอีกสี่สายคือแขนสอง  ขาสอง  ก็ถูกพัฒนาขึ้นจากความอยากรู้อยากเห็นของเด็กในลำดับถัดมา  ตามความใกล้ไกลของเส้นทางพลัง  และความละเอียดอ่อนของกิจกรรมที่ทำ (กิจกรรมที่ใช้ fine motor คือส่วนของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่นนิ้วมือย่อมมีความละเอียดอ่อนมากกว่ากิจกรรมที่ใช้ gross motor หรือกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่นแขนขา)
            จากการวิเคราะห์ข้างต้นทำให้เรารู้ว่า  จุดกำเนิดของพลังนั้นอยู่ตรงไหน  เส้นทางของพลังเป็นอย่างไร  และกิจกรรมต่างๆ  ของเด็กนั้นเกิดขึ้นจากอะไร  ที่สำคัญคือสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นไปโดยธรรมชาติของเด็ก
            คำถามต่อมาคือ  แล้วรู้ไปทำไม  คำตอบก็คือ  รู้ไปเพื่อความเข้าใจในหลักการของไท้เก็ก 
ไท้เก็กมักถูกโยงเข้ากับความเป็นธรรมชาติของสิ่งต่างๆ  ความเป็นธรรมชาติของเด็กเป็นสิ่งที่ค่อนข้างแปลก  เพราะถ้าลองคิดดูดีๆ แล้ว  สิ่งที่เด็กทำล้วนเกินกำลังของตัวเองทั้งสิ้น  ตั้งแต่การพลิกตัว  เขาเกิดมาไม่สามารถพลิกตัวได้  ไปจนการนั่ง  การยืน  การเดิน  และการวิ่ง  ถ้ามองตอนเด็กอายุ สามเดือนคงมองไม่ออกว่าจะวิ่งได้อย่างไร  แต่ด้วยธรรมชาติของเขาทำให้พัฒนาจนทำสิ่งต่างๆ  เหล่านี้ได้  พูดง่ายๆ  คือ ธรรมชาติของเด็กมักทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (มองจากตอนอายุสามเดือน)  ให้เป็นไปได้ (เมื่อเวลาผ่านไป)  และถ้าความรู้นี้ติดตัวเด็กไปใช้ตอนที่เขาโตแล้ว  เขาจะรู้กระบวนการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
            “เราสามารถทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้”  ด้วยความคิดนี้  เป็นประโยชน์กับเด็กอย่างมากในทุกๆ ช่วงอายุที่เขาเติบโตขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น  เด็กวัยเรียนถ้าเพื่อนในห้องเรียนไม่เก่ง  เรียนไม่รู้เรื่องเหมือนกันความคิดนี้คงไม่ได้ใช้งานเท่าไรนัก  แต่เราก็พบเด็กจำนวนไม่น้อย  ที่คิดว่าเพื่อนเก่งกว่า  เขาทำได้  เราทำไม่ได้  เราไม่เก่งเหมือนเพื่อน  ความคิดที่กัดกร่อนเช่นนี้ ผู้ปกครองโดยมากไม่เห็น  ไม่ได้ให้ความสำคัญ  พอนานวันเข้าจึงส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมออกมา  เมื่อถึงวันนั้นปัญหาก็บานปลายซะแล้ว  แต่ถ้าเด็กมีความคิดว่า “เราสามารถทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้” แล้ว  อีกทั้งยังรู้หลักการและกระบวนการในการทำ  เด็กเริ่มทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่นคิดว่าเพื่อนเรียนเก่ง  แล้วเราจะเรียนสู้เพื่อนได้อย่างไร  ก็เปลี่ยนเป็นเพื่อนเรียนเก่ง  เราก็สามารถเรียนให้เก่งเหมือนกับเพื่อนได้เพราะเรารู้หลักการในการเรียนให้เก่ง  อีกทั้งยังรู้กระบวนการการเรียนให้เก่ง  โดยเทียบเคียงจากหลักการในไท้เก็ก เป็นต้น 
            ดังนั้น  การเรียนไท้เก็กจึงได้ประโยชน์หลายอย่าง  เพราะนอกจากประโยชน์ในเรื่องของทักษะทางร่างกายและสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์นั้น  แนวคิดต่างๆ ที่ได้จากการเรียนก็เป็นข้อดีอีกข้อเหมือนกัน


                                                                                                                        ครูฤทธิ์...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น