วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พัฒนาลูกน้อยด้วยจินตเปียโน ตอนที่ 1 (ด้านสติปัญญา)

ตอนที่1 ก่อนตัวเลข

อันอัน เท่ากับ สองอัน อันนั้น อันนี้ อันโน้น เอาอันนี้ไหม จะเอาอันนั้น ไม่เอาอันนี้
คำว่า “อัน” มักถูกใช้เรียกก่อนที่เด็กจะรู้จักชื่อของสิ่งนั้นๆ  จนกว่าจะจำชื่อต่างๆ ได้  คำว่าอันจึงใช้น้อยลง และหันมาเรียกชื่อของสิ่งนั้นโดยตรง เช่น ทาโร่ โค้ก ไอติม ป๊อกกี้ ช็อคโกแล็ต  ซึ่งถ้าเรานำของเหล่านี้มาวางเรียงกันแล้วให้เด็กเล็กๆ เลือก เขาก็จะชี้ไปที่ของสิ่งนั้นแล้วบอกว่า  อันนี้ เอาอันนี้  เอาอันนั้น  คำว่า “อัน” จึงถูกนำมาใช้มากในเด็กเล็กๆ
พอโตขึ้นมาหน่อยอันเดียวเริ่มไม่พอ  เด็กเริ่มร้องเอาอีกๆ  แม่เลยถามว่า “เอากี่อัน”  มีคำว่ากี่เพิ่มเข้ามา  แรกๆ  เด็กไม่เข้าใจแม่จะมีคำตอบให้เลือก เช่น เอาหนึ่งหรือสองอัน คราวนี้ยิ่งงงเข้าไปอีก  แม่ถามต่อว่า  หนึ่งหรือสอง พร้อมกับชูของให้ดู  พอมีของให้เลือกก็เหมือนกับวิธีการที่เด็กเคยเรียนรู้ว่ามีของให้ชี้แล้วบอกว่า เอาอันนี้ เขาก็จะได้ของ  แม่จึงยืนของให้พร้อมกับพูดว่า สอง  เหล่านี้พอทำบ่อยๆ เข้าจึงเริ่มรู้ความหมายของคำว่า “หนึ่ง สอง”
สัญลักษณ์ตัวเลขนั้นค่อนข้างจะเป็นเรื่องของนามธรรม  ดังนั้นเพื่อให้มีความเข้าใจในตัวเลขแต่ละตัวโดยมากแล้วเด็กต้องมีประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมก่อนจึงจะเข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆ  ได้  ซึ่งแต่ละคนก็มีประสบการณ์ในเรื่องของรูปธรรมไม่เท่ากัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาเด็กเรียนคณิตศาสตร์แล้วบางคนเข้าใจได้เร็ว  บางคนต้องทำความเข้าใจอยู่นานพอสมควรจึงเข้าใจได้
การเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยเปียโนนั้น ทำให้เด็กได้เรียนรู้อยู่บนรูปธรรม  เห็นของเหมือนๆ กัน (คีย์เปียโน)  ได้นับเลข  ได้เห็นจำนวนที่เป็นรูปธรรม  เวลานับก็มี Reaction คือเสียงของคีย์ต่างๆ  ทำให้การเรียนคณิตศาสตร์น่าสนุกมากขึ้น  และเข้าใจได้ง่าย
ดังนั้น เมื่อเด็กได้พบกับ อัน  อัน และ เอากี่อันแล้ว  ลำดับต่อไปเราอาจให้เขาลองพบกับคำว่า เปียโน และ คีย์เปียโน เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ก่อนพบกับสัญลักษณ์ทางตัวเลขอันแสนเข้าใจยากในลำดับต่อไป


                                                                                                       ครูฤทธิ์  จิตพัฒฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น