วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พัฒนาลูกน้อยด้วยไท้เก็ก (ด้านร่างกาย) ตอนที่2

            ในตอนที่แล้วไว้พูดไว้ว่าเด็กๆ นั้นมีไท้เก็กที่ดีอยู่แล้ว  เราแค่พยายามรักษาส่วนดีที่ติดตัวเขามาตามธรรมชาติให้อยู่กับเขาไปนานๆ  และนำส่วนดีนั้นๆ  มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ  ในตอนนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า  ส่วนดีที่พูดถึงนั้นมีอะไรบ้าง
            ความอ้วนกลมของเด็กก็คือส่วนดีในการรำไท้เก็ก  เหล่าซือของผมเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านฝึกไท้เก็กใหม่ๆ ท่านถามอาจารย์ของท่านว่าทำอย่างไรถึงจะเก่ง  อาจารย์ของท่านตอบกลับมาว่า  ลื้อไม่ต้องฝึกอะไรมากหรอกเพราะหุ่นลื้อมันให้อยู่แล้ว  ใช่เลย...  เหล่าซือผมเป็นคนอ้วนกลม  ไม่ต้องฝึกอะไรมากก็เก่งอยู่แล้ว  เวลาผมฝึกผลักมือกับเหล่าซือก็มักจะเสียท่าแบบง่ายๆ  เพราะความที่ท่านกลม  ทำให้ผมผลักไม่ค่อยถูกจุดสำคัญ  พอท่านออกแรงเพียงนิดหน่อยก็ทำให้ผมเสียหลักได้  นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไม  ความอ้วนกลมของเด็กนั้นคือส่วนดีในการรำไท้เก็ก
            แขนขาที่ยังไม่แข็งแรงก็เป็นอีกข้อที่ดีสำหรับการฝึกไท้เก็ก  โดยธรรมดาแล้วผู้ใหญ่ส่วนมากที่เริ่มฝึกนั้นจะต้องพยายามลดความแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อแขน ขา และฝ่ามือลง เพื่อทำชี่เคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น  เคลื่อนไหวไม่แข็งเกร็ง  มีความยืดหยุ่นสูง  เปลี่ยนแปลงท่วงท่าได้ง่าย  ซึ่งกว่าจะฝึกได้ตามที่กล่าวมานี้ต้องใช้เวลากันเป็นปี  พอทำให้แขนขาอ่อนแล้วยังต้องฝึกการเคลื่อนกำลังจากท้องน้อยอีก  คราวนี้หลายปีเลย  แต่ในเด็กเล็กๆ นั้นแทบไม่ต้องฝึกส่วนนี้เลย  เพราะแขนขาและการเคลื่อนพลังเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว  เด็กไม่ต้องฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ  ไม่ต้องฝึกการเคลื่อนไหวในท่าทางที่ถูกต้องเพื่อให้ชี่วิ่งได้ดี  ความยืดหยุ่นก็มีสูงอยู่แล้ว  ส่วนการเคลื่อนพลังนั้นเนื่องจาก เด็กยังไม่มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมากนัก  เวลาทำอะไรก็ต้องทุมแรงจากทั้งตัว  ทำให้ส่วนท้องน้อยและลำตัวออกแรงมากที่สุด  ให้ลองสังเกตเวลาที่เด็กต้องดันของอะไรซักอย่างที่มีน้ำหนักมากๆ  จะเห็นได้ชัดว่าเขาออกแรงส่วนใดบ้าง  หรือถ้าเป็นเด็กอายุก่อนสามเดือนจะเห็นได้ชัดเวลาที่เขาขยับตัวว่า  เขาออกแรงจากส่วนใดบ้างของร่างกาย  นั่นแหละคือสิ่งที่ผู้ใหญ่ฝึกรำไท้เก็กกันเพื่อให้ได้ลักษณะการออกแรงแบบนั้น 
            การตอบสนองต่อวัตถุที่มากระทบก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ดี  เพราะถ้าเป็นผู้ใหญ่มีวัตถุอะไรบางอย่างวิ่งเข้ามาหาก็มักจะจับหรือหยุดการเคลื่อนไหวนั้นด้วยกำลัง  แต่สำหรับเด็ก  ร่างกายที่ไม่ได้มีกำลังไปหยุดทุกสิ่งอย่างก็จะมีการตอบสนองแบบยอมรับ และอ่อนตามกำลังของวัตถุนั้นๆ  ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นของการฝึกไท้เก็ก
            จากข้อดีหลายๆ ข้อที่กล่าวมา  จึงเห็นควรให้ลูกน้อยได้เรียนรู้หลักการใช้พลังของไท้เก็กตั้งแต่เด็กๆ  เพราะถ้าเรารอไปจนอายุ 60 70 แล้วละก็...  คงนึกไม่ออกแล้วว่าตอนเด็กๆ  ออกแรงผลักของอย่างไร


                                                                                                                                                  ครูฤทธิ์...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น