วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พัฒนาลูกน้อยด้วยเปียโน ตอนที่ 4 (ทักษะทางด้านเปียโน)

ตอนที่ 4  พัฒนาด้วยสามทักษะห้าขั้นตอน

การพัฒนาทักษะทางด้านเปียโนนั้นมีอยู่หลายวิธี  หลายรูปแบบ  สามทักษะห้าขั้นตอน  คือรูปแบบหนึ่งในการเรียนรู้เปียโนที่เราคิดขึ้นมา  ใช้ในการสอนเด็ก  ซึ่งผู้ใหญ่เองก็สามารถเรียนรู้ด้วยสามทักษะห้าขั้นตอนได้เช่นกัน
สามทักษะนั้นมีอะไรบ้าง  หนึ่งคือทักษะการฟัง  ทักษะนี้จะว่ายากก็ยาก  จะว่าง่ายก็ง่าย  ซึ่งแบ่งออกได้เป็น การฟังแบบได้ยิน เช่นฟังเพลง  ฟังเสียง  ได้ยิน  แต่ไม่รู้ว่าเสียงนั้นคืออะไร  มีความหมายอะไร  สัมพันธ์กับอะไรได้บ้าง  ยากขึ้นมากอีกคือ ฟังแบบจำได้  เช่นฟังเสียงโน้ตโด  ก็รู้ว่าคือโด  ฟังเสียงเร ก็รู้ว่าคือ เสียงเร  ฟังโดเสียงต่ำ  เสียงสูง  ก็จำได้  อย่างนี้เริ่มยากสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนดนตรี  และยากขึ้นไปอีกคือฟังแบบแยกแยะเสียงได้  เช่นกดโด เร พร้อมกัน  ก็รู้ว่า กดโด เร  กด โด มี ซอล พร้อมกันก็รู้ว่า กดโด มี ซอล  ยิ่งกดพร้อมกันมากความยากก็เพิ่มมากขึ้น  นี่คือการฝึกทักษะทางด้านการฟัง
สองคือทักษะการอ่าน ทักษะนี้ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสัญลักษณ์  มันก็คลายๆ กับการเรียนตัวอักษรทั่วๆ ไป คือเมื่อเห็นสัญลักษณ์แล้วรู้ว่ามันคืออะไร  กดที่คีย์ไหน  การอ่านโน้ตนั้นเริ่มแรกอาจให้รู้จักโน้ต โด ก่อนคือตัวดำที่อยู่บนขีดสั้นๆ ระหว่างบรรทัดห้าเส้น  อย่างที่เพลงเขาแต่งไว้ว่า “โด นั้นชอบนั่งชิดช้า  แกว่งไปแกว่งมา นั่งร้องโด โด โด โด” หลังจากนั้นก็สอนอ่านไล่ขึ้นไป  และไล่โน้ตลงมาว่ามีลักษณะอย่างไร  ตัวดำอยู่ระหว่างเส้นนี้เรียกว่าโน้ตอะไร (คีบตะเกียบ)  ถ้าตัวดำอยู่ทับเส้นนั้นเรียกว่าโน้ตอะไร (ไม้เสียบลูกชิ้น) และกดอย่างไร  ต่อมาค่อยให้รู้จักสัญลักษณ์ทางดนตรีต่างๆ ว่าใช้อย่างไร เช่นตัวเขบ็ต หนึ่งชั้น สองชั้น ตัวกลม ตัวขาว ตัวดำ  ตัวหยุด กุญแจซอล กุญแจฟา เส้นกั้นห้อง ฯลฯ และสุดท้ายอ่านให้คล่องเหมือนกับอ่านหนังสือ  เพราะนี่คือภาษาทางดนตรี
สามคือการเล่น ต้องอาศัยความพร้อมทางร่างกาย  คือกล้ามเนื้อมัดเล็ก เพราะฉะนั้นหากใครต้องการให้เด็กเล่นดนตรีให้เก่งตั้งแต่เล็กๆ คงยากพอสมควรเนื่องจากเด็กเล็กๆ ยังควบคุมกล้ามเนื้อนิ้วมือได้ไม่ดีนัก  อย่าว่าแต่การเล่นเปียโนเลย  จับช้อนกินข้าวโดยไม่หกให้ได้ก่อนน่าจะดีกว่า  เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของการใช้นิ้วมือได้ในระดับหนึ่ง  ดังนั้นการฝึกเปียโนในทักษะนี้อาจเริ่มจากการฝึกทานอาหารโดยใช้ช้อนซ้อมให้ชำนาญก่อน  หลังจากนั้นจึงคาดหวังให้ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งกดให้ถูกคีย์  ต่อมาจึงเพิ่มจำนวนนิ้วที่กดให้ครบสิบนิ้ว  แล้วจึงฝึกฝนในเรื่องอื่นๆ  ที่ยากขึ้นไปเป็นลำดับ  เช่น ในเรื่องของน้ำหนัก  ความเร็ว  ความแม่นยำ  ไปจนถึงระดับที่เรียกว่า “พลิ้ว” เป็นต้น
ทักษะทั้งสามที่กล่าวมานี้ไม่ว่าจะเรียนภาษาอะไรก็ต้องใช้ทั้งนั้น  แต่อาจแตกต่างกันไปตามรูปแบบการใช้งาน  อย่างเรียนภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  ภาษาจีน  ญี่ปุ่น  เกาหลี  ก็ต้องฟังเสียงพูด  แยกแยะให้ออกว่าเสียงนี้มีความหมายอย่างไร  สัญลักษณ์อย่างนี้หมายถึงอะไร  ใช้อย่างไร  อ่านอย่างไร  เขียนอย่างไร  ดนตรีก็เหมือนภาษาเหล่านี้ที่มีการฟัง  การอ่าน  การเล่นเพลง  เราเรียกรวมว่า “สามทักษะ” ส่วนคำว่าห้าขั้นตอนนั้นเป็นรูปแบบการเรียนเปียโนเฉพาะที่ บ้านดนตรีมิเนอว่าคิดขึ้นมา ไม่สามารถนำมากล่าวถึงในที่นี้ได้ 


                                                                                                       ครูฤทธิ์  จิตพัฒฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น